

ภายในพระวิหารวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เข้ามาภายในพระวิหารหลวง จะเห็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่สูงตระหง่านได้เด่นชัด ที่ฐานของพระพุทธรูปองค์ประธานมีพระพุทธรูปมากมาย
พระอัฏฐารส พระอัฏฐารส เป็นพระพุทธปฏิมาประธานในพระวิหารหลวง วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ ที่ น.ณ. ปากน้ำ (คุณประยูร อุลอชาฏะ) ปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญงานศิลปกรรมกล่าวไว้ว่า "พระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย ศิลปะเชียงใหม่ตอนต้นที่ได้รับอิทธิพลต้นแบบจากศิลปะปาละ (อินเดีย)"
พระพุทธอัฏฐารส หล่อด้วยทองสำริดสูงใหญ่ ปางห้ามญาติสูง 8.23 เมตร มีพระพุทธลักษณะสง่างามที่สุดในอาณาจักรล้านนา โดยเฉพาะส่วนพระพักตร์มีลักษณะอ่อนโยนงดงามยิ่งนัก เป็นศิลปกรรมร่วมสมัยกับพระพุทธรูปแบบเชียงแสนหรือพระสิงห์ซึ่งได้วิวัฒนาการงานศิลป์มาจากปาละด้วยเช่นกัน ไม่น่าเชื่อว่าบรรดาสกุลช่างศิลป์ในแคว้นหรืออาณาจักรต่างๆ ของชนชาติสมัยนั้น (ยกเว้นสกุลช่างศิลป์สุโขทัย) จะหล่อพระพุทธรูปยืนที่มีขนาดใหญ่ได้สัดส่วนกลมกลืนงดงามถึงเพียงนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองผาสุกของบ้านเมืองและผู้คนในยุคนั้น
พระอัฏฐารสองค์นี้ สร้างขึ้นในสม้ยพระเจ้าสามฝั่งแกนรัชกาลที่ ๘ แห่งราชวังศ์มังราย พระเจ้าสามฝั่งแกนเป็นพระราชโอรสพระเจ้าแสนเมืองมาและพระนางติโลกจุฑา เมื่อพระเจ้าแสนเมืองมาพระราชบิดาเสด็จสวรรคต พระองค์จึงเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติขณะยังทรงพระเยาว์ พระนางติโลกจุฑามหาเทวีพระราชมารดาจึงทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ระยะหนึ่ง พระนางติโลกจุฑาและยุวกษัตริย์สามฝั่งแกนได้ทรงสร้างพระธาตุเจดีย์หลวงต่อจากที่พระเจ้าแสนเมืองมอทรงสร้างค้างไว้จนแล้วเสร็จ "ถัดแต่นั้นมาพระนางติโลกจุฑาก็ให้สร้างวิหารหลังหนึ่งและพระนางจึงให้หล่อพระพุทธรูปองค์หนึ่งสูง 18 ศอก กับพระอัครสาวกทั้ง 2 องค์ประดิษฐานไว้ในวิหารนั้น"
วิหารที่พระนางติโลกจุฑาทรงสร้างดังกล่าวนั้น คือพระวิหารหลวงของวัดเจดีย์หลวงแต่มิใช่หลังปัจจุบัน เพราะมีการรื้อสร้างใหม่ในที่เก่าเป็นครั้งที่ 7 กับครั้งนี้สร้างไว้ทางทิศตะวันออกองค์พระธาตุเจดีย์หลวง
ที่กล่าวว่า "หล่อพระองค์หนึ่งสูง 18 ศอก" ก็คือพระอัฏฐารสในพระวิหารหลวงนั่นเอง พระพุทธปฏิมาอัฏฐารส ความจริงสูง 8.23 เมตร (16 ศอก 23 ซม. ศอกมาตรฐานคือ 24 นิ้ว เป็น 1 ศอก) พระโมคคัลลานะ อัครสาวกซ้าย สูง 4.43 เมตร พระสารีบุตร อัครสาวกขวา สูง 4.19 เมตร และยังหล่อพระพุทธรูปปาง และขนาดต่างๆ อีกจำนวนมากเมื่อปี พ.ศ. 1955
ในครั้งนั้นได้ตั้งโรงหล่อเผาเบ้าหลอมทองในบริเวณที่ตั้งวัดพันเตาปัจจุบัน เพราะต้องเททองพระพุทธรูปเป็นร้อยเป็นพันเบ้า จึงเป็นที่มาของวัดพันเตา "เมื่อครั้งหล่อพระพุทธรูปอุฏฐารสนั้น พระเถระชื่อว่านราจาริยะ ผู้เป็นเจ้าอาวาสวัดโชติการาม (วัดเจดีย์หลวง) ใคร่ลองบุญญาภินิหารของท่าน กระทำสัตยาธิษฐาน แล้วอุ้มเบ้าทองอันร้อนด้วยมือยกขึ้นตั้งเหนือศรีษะนำไปหล่อเบ้านั้นก็ไม่ทำให้ร้อนไหม้ คนทั้งหลายเห็นแปลกดังนั้นก็เกิดอัศจรรย์พากันสาธุการเอิกเกริกทั่วทั้งเวียง"
ความจริงแล้วพระอัฏฐารสไม่ได้แปลว่า พระพุทธรูปสูง 18 ศอก พระอัฏฐารส แปลว่า พระสิบแปด ไม่มีคำว่าศอกแต่อย่างใด ความหมายที่แท้จริงท่านหมายถึงพุทธธรรม 18 ประการ อันเป็นพระคุณสมบัติเฉพาะพระองค์ ไม่ได้หมายความว่าพระพุทธรูป 18 ศอกดังที่เข้าใจกัน องค์พระพุทธปฏิมาอัฏฐารสอาจจะสูงต่ำกว่านั้นหรือจะสูง 18 ศอกก็ย่อมได้ ที่ตั้งชื่อพระพุทธรูปเช่นนั้นก็เพื่อเป็นอุบายธรรมสื่อนำไปสู่ความเข้าใจในพุทธคุณอันประเสริฐของพระพุทธองค์ผู้ทรงเป็นศาสดาของมนุษย์และเทพเจ้าทั้งหลาย ดังพระบาลีในอาฏานาฏิยปริตรว่า : "อุเปดาพุทฺธธมฺเมหิ อฏญารสหิ นายกา พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้เป็นนายกคือผู้นำ ทรงประกอบด้วยพุทธธรรม 18 ประการ"