"โสภณ ซารัมย์" อึ้ง ! ฝ่ายบริหารบินไทยเก็บเงียบ ไม่รายงานเหตุระทึกอุบัติเหตุเที่ยวบิน TG 116 กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เกิดเพลิงไหม้เครื่องยนต์ สร้างความหวาดเสียวแก่ผู้โดยสาร หลังรับรู้เร่งแจงให้ทุกฝ่ายเข้มมาตรการความปลอดภัย ขณะที่ "อำพน-บอร์ด" ประชุมบอร์ดด่วนจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ นี้ อาจถึงขั้นต้องเชิญโบอิ้งมาให้คำแนะนำด่วน
รายงานข่าวจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อเย็นวันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553 เครื่องบินโบอิ้ง B747-400 (รหัสเครื่องบินลำนี้คือ HS-TGB) ของการบินไทยเที่ยวบิน TG 116 ออกจากสุวรรณภูมิบริเวณหลุมจอด B-6 เวลา 17.23 น. บรรทุกผู้โดยสารจำนวน 333 คน มุ่งหน้าไปเชียงใหม่ ระหว่างเครื่องบินทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าได้ประมาณ 15 นาที เกิดเหตุการณ์เครื่องยนต์เครื่องที่ 1 มีเสียงดังคล้ายระเบิดจากนั้นเกิดไฟลุกไหม้กลางอากาศ จนทำให้เครื่องยนต์เกิดความเสียหายเป็นรูขนาดใหญ่
ขณะนั้นกัปตันและทีมนักบินผู้ควบคุมการบินได้ตัดสินใจนำเครื่องบินวนกลับเพื่อขอลงฉุกเฉินที่สุวรรณภูมิบริเวณหลุมจอด B126 ช่วงเวลา 18.08 น. โดยมีทีมดับเพลิงประจำสนามบินนำโฟมเข้าไปฉีดตามระบบมาตรฐานสากลจนทุกอย่างเข้าสู่สภาพปกติผู้โดยสารทุกคนปลอดภัย
จากนั้นการบินไทยได้เปลี่ยนเครื่องบินลำใหม่ย้ายผู้โดยสารทั้งหมดเดินทางไปเชียงใหม่ด้วยเที่ยวบิน TG 126 กำหนดเวลาออกจากสุวรรณภูมิตามมาตรฐานตารางบินคือ 19.20 น.แต่ก็ต้องล่าช้าไปออกได้จริงเวลา 19.51 น.สร้างความตกใจแก่ผู้โดยสารเป็นอย่างมาก
รายงานข่าวระบุว่าการซ่อมบำรุงดูแลสภาพเครื่องบินและเครื่องยนต์อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยธุรกิจฝ่ายช่าง (DT) ซึ่งปัจจุบันมี นายมนตรี จำเลียง เป็นกรรมการผู้จัดการ ทำหน้าที่บริหารจัดการทั้งหมด แต่กลับเกิดเหตุการณ์ไฟลุกไหม้เครื่องยนต์โบอิ้ง B747-400 ขึ้น ระหว่างเกิดเหตุการณ์กลับไม่มีรายงานด่วนให้ฝ่ายบริหารรับทราบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) หรือ นายอำพน กิตติอำพน ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทย และ/หรือ หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกทาง
หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าผู้โดยสารอาจจะเกิดความเชื่อมั่นต่อบริการของการบินไทยก็เป็นได้ อีกทั้งยังขัดต่อนโยบายของนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ซึ่งประกาศให้ปี 2553 เป็นปีคมนาคมปลอดภัย ทั้งทางอากาศ ทางบก และ ทางน้ำ ใช้งบประมาณจำนวนมากลงทุนทำแคมเปญผ่านสื่อโฆษณามาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
ล่าสุด นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ไม่ได้รับรายงานจากฝ่ายบริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยตรง แต่ได้รับทราบข้อมูลเบื้องต้นจากทางอื่นถึงอุบัติเหตุเครื่องยนต์เครื่องบินโบอิ้ง 747-400 เที่ยวบิน TG 116 กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ มีปัญหาทางเทคนิคเกิดไฟลุกไหม้เครื่องยนต์เครื่องที่ 1 ระหว่างบินขึ้นจากสุวรรณภูมิไปเชียงใหม่เมื่อเย็นวันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553 ขั้นตอนขณะนี้ได้ให้นโยบายนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) ไปหาข้อสรุปพร้อมทำรายงานข้อเท็จจริงมายังกระทรวงคมนาคม เนื่องจากปีนี้เป็นปีคมนาคมปลอดภัยทุกฝ่ายจะต้องดูแลมาตรฐานการขนส่งทุกประเภทด้วยคุณภาพและประสิทธิภาพ
นายอำพน กิตติอำพน ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทย กล่าวว่า เพิ่งรับทราบเหตุการณ์ทั้งหมดจากฝ่ายบริหารการบินไทยถึงสาเหตุมาจากน้ำมันในเครื่องไฮโดรลิกเครื่องยนต์ขัดข้อง แต่กัปตันผู้ควบคุมเครื่องบินลำดังกล่าวตัดสินใจถูกทางโดยปฏิบัติตามขั้นตอนมาตรฐานคู่มือการบินสากล สามารถนำเครื่องกลับมาลงจอดที่สุวรรณภูมิอย่างปลอดภัย ก่อนจะปล่อยให้เจ้าหน้าที่ภาคพื้นสนามบินของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) "ทอท." เข้าไปควบคุมจนผู้โดยสารทุกคนปลอดภัย
แต่อย่างไรบอร์ดจะต้องเรียกประชุมด่วนวันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ นี้ พร้อมทั้งให้นายปิยสวัสดิ์ และ ผู้บริหารฝ่ายช่าง รายงานผ่านคณะกรรมการทางเทคนิคต่อที่ประชุมบอร์ด เพื่อหาทางป้องกันอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่จะเกิดกับเครื่องบินแต่ละเที่ยว สำหรับกรณีนี้จะต้องใช้เวลาตรวจสอบข้อเท็จจริงสักระยะ โดยอาจต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญจาก บริษัท โบอิ้ง จำกัด มาให้คำแนะนำปรึกษาด้วยเช่นกัน
นายโชคชัย ปัญญายงค์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายวางแผนการบินไทย กล่าวว่า เหตุการณ์เครื่องยนต์ขัดข้องกลางอากาศเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นทุกฝ่ายจึงไม่ควรจะแตกตื่นหรือตกใจ เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถควบคุมสถานการณ์จนผู้โดยสารปลอดภัยแล้ว อีกทั้งยังเปลี่ยนเครื่องบินไปเชียงใหม่ได้ตามปกติ
นายชัยศักดิ์ อังค์สุวรรณ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะบอร์ดการบินไทย กล่าวว่า อุบัติเหตุเครื่องยนต์เกิดเพลิงรุกไหม้กลางอากาศครั้งนี้ ควรจะตั้งคณะกรรมการทางเทคนิคตรวจสอบข้อเท็จจริง ฝ่ายบริหารการบินไทยบางคนจะมาอ้างว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปกติไม่ได้ เพราะการขนส่งทางอากาศมีความอ่อนไหวทั้งผู้ใช้บริการและชื่อเสียงความเชื่อมั่นของแบรนด์กับสาธารณชน
รายงานข่าวจาก บมจ.การบินไทยกล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ตามคู่มือปฏิบัติการการบินสากล ฝ่ายช่างจะต้องรายงานทันทีขณะเกิดเหตุตามขั้นตอนจะต้องให้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) หน่วยบริหารภาวะฉุกเฉินด้านการบินประจำสำนักงานใหญ่การบินไทย (C-MOC) ประธานบอร์ด กรรมการทุกคน และ รัฐมนตรี รับทราบภายในวันดังกล่าว ต่างจากครั้งนี้เพิ่งจะมารายงานเมื่อมีการนำภาพของเครื่องบินที่มีปัญหาออกมาเผยแพร่ภายในองค์กรเมื่อช่วงเย็นวันพฤหัสบดี 4 กุมภาพันธ์ 2553
ที่มา: http://www.prachacha...pid=02&catid=no