ขอบคุณที่จัดให้ตามคำขอนะคะ
จำได้ว่าเคยไปเที่ยวหมู่บ้านชาวเลที่นี่มา
เพิ่งรู้ว่าที่นี่โดนสึนามิด้วย
ถ้าอย่างนั้นในตัวเมืองภูเก็ตแถบสะพานหินมิโดนไปด้วยหรือคะ
ขอบคุณสำหรับรีวิวค่ะ
จริงๆมันก็อยู่ในอ่าวภุเก็ตเหมือนกันครับ แต่ด้วยความที่สะพานหิน ไม่มีสิ่งก็สร้างที่อยู่ใกล้ชายทะเลมากเกินไป จึงไม่มีอะไรเกิดขึ้นใมนตอนนั้น
ตรงกันข้ามกับ หมู่บ้านไทยใหม่ที่แหลมตุกแกครับ เพราะเขาสร้างบ้านลงไปในทะเล ดังนั้นเวลาน้ำมันเอ่อขึ้นมาเร็วๆก็เสียหายกันไปหมดครับ
เอาบทความจากหนังสือพิมพ์ ในสมัยนั้นมาให้อ่านครับโดย ผู้จัดการออนไลน์ 29 ธันวาคม 2547 00:47 น.
แหลมตุ๊กแก บริเวณเกาะสิเหร่ ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต เป็นที่ตั้งของชุมชนชาวประมงพื้นบ้านขนาดใหญ่ที่สุดบนเกาะภูเก็ต ชาวชุมชนที่นี่เรียกตัวเองว่าเป็น “ชาวไทยใหม่” แต่สำเนียงที่สื่อสารกันภายในชุมชนเป็นภาษาของ “ชาวเล” หรือ “ชาวน้ำ” ชนกลุ่มน้อยที่มีวิถีชีวิตผูกติดกับท้องทะเลมาเนิ่นนานนับร้อยนับพันปี คือกลุ่มชนที่กระจายตั้งหลักปักฐานตามเกาะแก่งและชายฝั่งกินพื้นที่หลายประเทศในย่านทะเลอันดามัน
นับเนื่องหลายสิบปีมาแล้วที่ชาวไทยใหม่ ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน สร้างผลผลิตสัตว์น้ำประเภทต่างๆ เป็นอาหารป้อนเข้าสู่เมือง เพื่อหล่อเลี้ยงผู้คนบนเกาะสวรรค์ที่เลื่องชื่อว่าเป็นไข่มุกแห่งท้องทะเลอันดามันสุดหรูแห่งนี้มานานแสนนาน แม้ผู้คนในชุมชนที่นี่กว่า 1,000 ชีวิตจะยังค่อนข้างขัดสนกันอยู่บ้าง เรือนพักที่มีอยู่กว่า 200 หลังส่วนใหญ่ยังเป็นแค่เพิงสังกะสี แต่ก็ล้วนมีความเป็นอยู่แบบพอเพียงกันถ้วนทั่ว
แต่แล้วช่วงสายของวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ธรณีวิบัติภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิที่ถาโถมเข้าสู่ชายฝั่งของเกาะภูเก็ตก็ได้พลิกผันวิถีชีวิตของผู้คนเกือบทั้งชุมชน จากชีวิตที่พออยู่พอกินกลับกลายเป็นแทบจะหมดเนื้อหมดตัวไปตามๆ กัน
หลายครอบครัวเคยอยู่กันอย่างอบอุ่นในเพิงพักสังกะสี มีเสื้อผ้าและเครื่องใช้ไม้สอดอย่างเพียงพอ ในวันนี้เหลือเพียงเสื้อผ้าติดตัวชุดเดียว และไม่มีแม้กระทั่งที่จะคลุมหัวนอน หลายครอบครัวเคยมีเรือหัวโทง ได้ใช้เป็นเครื่องมือหากินหลัก ในวันนี้กลับมีแต่เศษไม้ที่ไม้สามารถจะนำกลับมาประกอบเป็นเรือได้อีกเหมือนเดิม
และในวันนี้วัดเกาะสิเหร่ กลางชุมชน กลับกลายเป็นเรือนพักพิงชั่วคราวของผู้คนชาวไทยใหมเกือบจะทั้งหมู่บ้านชาวประมงพื้นบ้านที่มากด้วยตำนานแห่งนี้
อาเต็ม ช้างน้ำ วัย 48 ปี หนึ่งในชาวชุมชนแหลมตุ๊กแก เขาเป็นผู้นำครอบครัวที่มีสมาชิกอยู่ร่วมกันในเพิ่งพักรวม 12 คน บอกเล่ากับ “ผู้จัดการรายวัน” ว่ากว่า 20 ปีมาแล้วที่เขาทำอาชีพเรือประมงวางลอบดักปลา ออกทะเลไปดำน้ำยกลอบได้ปลาบ้าง ไม่ได้บ้าง ถ้าวันไหนโชคดีก็มีเงินมาหล่อเลี้ยงครอบครัว 1,000-2,000 บาท
“ชั่วชีวิตผมที่อยู่กับท้องทะเลมาไม่เคยเห็นเหตุการณ์อะไรที่รุนแรงอย่างนี้มาก่อนเลย วันนั้นคลื่นยักษ์มันกระแทกเรือหัวโทงคู่ชีพผมแตกละเอียดไปทั้งลำ เหลือเพียงกองเศษไม้ไว้ดูต่างหน้า เครื่องยนต์ฮอนด้าก็ถูกคลื่นซัดลงทะเล บ้านแม้ไม่พังยับ แต่ก็เหลือเพียงโครงสร้าง ข้าวของเครื่องใช้ก็ไม่มีเหลือ” ระหว่างคำบอกเล่า นายอาเต็มทอดสายตาเหม่อลอย จับความได้ว่า ณ ห้วงเวลานี้เขาไม่อยากจะคิดอะไรให้รกสมองอีกแล้ว เรื่องความเป็นอยู่ของครอบครัวต่อจากนี้ค่อยว่ากันทีหลัง ขอนอนวัดและรับข้าวน้ำบริจาคไปสักพักก่อนเผื่ออะไรๆ จะดีขึ้นบ้าง
ขณะที่ สมชาติ ประมงกิจ อายุ 37 ปี เพื่อนร่วมอาชีพประมงพื้นบ้านด้วยกัน แม้ไม่ได้เป็นเจ้าของเรือ แต่เขาก็ออกทะเลดำกุ้งดำหอยหาเลี้ยงครอบครัวอยู่รอดมาตลอด เขาเพิ่มเติมเรื่องราวชีวิตอันบอบช้ำของชาวไทยใหม่แห่งชุมชนแหลมตุ๊กแกให้ฟังว่า ในวันนั้นคลื่นยักษ์กวาดเอาบ้านของเขาทั้งหลังลงทะเลไปหมดสิ้น ภรรยาและลูกชาย 2 คน รวมถึงตัวเขาสมบัติที่เหลืออยู่ก็มีแต่เสื้อผ้าติดตัวคนละชุดเท่านั้น
เขาจดจำเหตุการณ์ในวันนั้นได้อย่างยากที่จะลืมเลือนไปชั่วชีวิต ระหว่างยืนอยู่ในวัดเกาะสิเหร่มีคนมาบอกว่า ที่หมู่บ้านชาวประมงบริเวณหาดราไวย์ของเกาะภูเก็ตไกลออกไป ได้เกิดคลื่นลูกใหญ่กวาดเรือจมไปหลายลำแล้ว ทีแรกเขาไม่เชื่อในสิ่งที่ได้ยิน แต่แล้วชาวบ้านตื่นกลัวกัน เขายกมือท่วมหัวไหว้พระพุทธรูป ก่อนที่จะวิ่งกลับบ้านไปอุ้มแม่ที่มีอายุมากแล้วหนีคลื่นนรก
“คลื่นลูกแรกที่ถล่มหมู่บ้านไม่ใหญ่นัก ผมเห็นบ้านผมยังอยู่ก็จะวิ่งเข้าไปเก็บข้าวของ แต่ภรรยาฉุดให้หนีขึ้นที่สูงเพราะเห็นคลื่นลูกที่สองกำลังเข้ามา สุดท้ายคลื่นลูกหลังนี้สูงใหญ่จนกวาดบ้านทั้งหลังของผมไปหมด” สมชาติบอกด้วยว่า เขาพยายามเก็บเงินที่จะส่งลูกชายคนโตที่กำลังจะจบ ม.3 ได้เรียนต่ออาชีวะ และลูกชายคนเล็กกำลังจะจบ ป.6 ได้เรียนต่อ ม.1 แต่เงินก้อนนั้นก็ได้สูญหายไปพร้อมกับบ้านทั้งหมดแล้ว ตอนนี้ความคิดตื้อตันไปหมด ไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อไป ครอบครัวจะมีชีวิตอย่างไรต่อไป
ด้าน ศิริศักดิ์ ขนานชี ผู้ประกอบการฟาร์มเหมือนใจ ที่ตั้งอยู่กลางหมู่บ้านแหลมตุ๊กแก เปิดเผยว่า เขาเพิ่งจะร่วมกับน้องชายขอเช่าฟาร์มจากผู้ประกอบการรายเดิมมาทำต่อ ช่วงประมาณครึ่งเดือนมานี้ลงทุนกันไปแล้วประมาณ 200,000 บาท ต่อเติมอาคารและจัดหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาการ์ตูนและหอยเป๋าฮื้อ แต่ปรากฏว่าถูกคลื่นยักษ์ทำลายเหลือแต่ซาก แถมสูญเงินทองและของมีค่าไปในคราวเดียวกันอีกประมาณ 100,000 บาท
“แม้ไม่มีใครมาช่วยเหลืออะไรเลย และผมก็ยังไม่รู้ว่าจะฟื้นกิจการได้หรือเปล่า แต่เมื่อผมได้เห็นเพื่อนร่วมงานทุกคนปลอดภัยดี แค่นี้ผมก็พอใจแล้ว” แม้เวลาพูดจะพยายามแสดงให้เห็นถึงเสียงหัวเราะ แต่แววตาก็ยังแฝงไว้ถึงความกังวลใจ
สินธิ แดงสกุล ประมงจังหวัดภูเก็ต สรุปภาพรวมความเสียหายจากคลื่นยักษ์ถล่มเกาะภูเก็ตของกิจการประมงในพื้นที่ว่า ไม่ว่าจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่ต่างก็ได้รับความเสียหายทั่วหน้า มีการคาดการณ์ในเบื้องต้นแล้วว่า เฉพาะบนเกาะภูเก็ตมีมูลค่าความเสียหายสูงถึงหลายร้อยล้านบาท เรือประมงพาณิชย์ล่มกว่า 70 ลำ และเรือประมงพื้นบ้านล่มอีกกว่า 900 ลำ