บวท. หนุนใช้สนามบินดอนเมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสานต่อแนวทางสถาปนาไทยเป็น ศูนย์กลางของการขนส่งทางอากาศในภูมิภาคอาเซียน...
พล.อ.อ. สมชาย เธียรอนันท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) กล่าวถึงการใช้ประโยชน์จากท่าอากาศยานดอนเมืองว่า ในความเห็นของ บวท. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ให้บริการการจราจรทางอากาศให้กับอากาศยานที่บิน เข้ามาในน่านฟ้าไทยเห็นว่าควรใช้ประโยชน์จากสนามบินดอนเมืองในฐานะสนามบินสำรองของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ตัวอย่างเช่น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ถูกใช้อย่างเต็มความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร หรือ กรณีที่สนามบินสุวรรณภูมิมีปัญหาภาครัฐ หรือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน)(ทอท.)ก็ควรนำสนามบินดอนเมือง มาให้บริการในการขึ้นลงแทน สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อไม่ให้สนามบินดอนเมืองเป็นสนามบินร้างและไม่ได้ใช้ประโยชน์ รวมถึงให้สนามบินดอนเมืองเป็นศูนย์กลางของการซ่อมบำรุงอากาศยานของภูมิภาคเพราะหากภาครัฐไม่มีการตัดสินใจว่าจะใช้ประโยชน์ใดๆจากสนามบินดอนเมือง ก็จะทำให้ประเทศไทยสูญเสียศักยภาพในการแข่งขันให้กับประเทศคู่แข่งอย่างสิงคโปร์ไปมากกว่านี้
พล.อ.อ. สมชาย กล่าวว่า ประเทศไทย โดยเฉพาะบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีการสั่งซื้อเครื่องบินสั่งซื้อเครื่องบินจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับกับจำนวนนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี แต่ไม่มีการทำสัญญาข้อตกลงเพื่อให้บริษัทเหล่านี้ มาตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงในประเทศไทย ทำให้เครื่องบินทุกลำของไทยที่สั่งซื้อเข้ามาต้องบินออกไปซ่อมบำรุงที่สิงคโปร์ ซึ่งขัดแย้งกับนโยบายความต้องการให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางของการขนส่งทางอากาศในภูมิภาค (ฮับ)
“การเป็นฮับของการประเทศไทยต้องประกอบด้วยองค์ประกอบหลายอย่างไม่ใช่แค่การมีเครื่องบินบินเข้ามาในน่านฟ้าเยอะๆ เท่านั้น เพราะหากบินเข้ามาแล้วสายการบินต่างๆต้องบินวนรอก็ทำให้เสียเวลา เปลืองน้ำมัน ที่สุดก็ทำให้สายการบินเลี่ยงที่จะบินเข้ามาในน่านฟ้าไทย
ดังนั้น การเป็นฮับนั้นต้องประกอบด้วยสนามบินที่มีศักยภาพ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน การควบคุมจราจรทางอากาศที่มีประสิทธิภาพและมีความทันสมัย และเครื่องบินที่ใช้ในการรองรับผู้โดยสารนั่นก็คือการมีสายการบินหลักของประเทศคือการบินไทย ซึ่งในส่วนของ บวท.เองก็ต้องพัฒนาประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวกด้านการจราจรทางอากาศอย่างต่อเนื่องเพราะเทคโนโลยีพัฒนาไปเร็วมาก บวท.ก็ต้องพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมตลอดเวลา โดยได้ทุ่มงบประมาณปีละกว่า 300 ล้านบาทจากรายได้ที่มีอยู่ปีละประมาณ 5,900 ล้านบาท เพื่อฝึกอบรมบุคลากรกว่า 2,900 คนทั่วประเทศทั้งในและต่างประเทศ ”พล.อ.อ.สมชาย กล่าว
ขณะนี้ความสามารถของการอำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้กับอากาศยานของบวท.นั้นอยู่ที่ 59 ลำต่อชั่วโมง และหากมีการสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) เพิ่มเป็นรันเวย์ที่ 3 ก็จะทำให้เครื่องบินมีการขึ้นลงอยู่ที่ประมาณ 75 ลำต่อชั่วโมง จึงจำเป็นต้องมีการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการเพิ่มขึ้นของเครื่องบินเหล่านี้ล่วงหน้า ด้วยการของบประมาณในการลงทุนเพิ่มจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)ปี 2555 อีก 4,460 ล้านบาท เพื่อใช้ในการ พัฒนาระบบการจัดการจราจรทางอากาศ พร้อมจัดตั้งศูนย์เพิ่มความสามารถในการขยายช่องจราจรทางอากาศมีเป้าหมายหลักเพิ่มช่องจราจรทางอากาศให้มากขึ้นจากเดิมมีระยะ ห่าง 2,000 ฟิต ลดเหลือเพียง 1,000 ฟิต โดยใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการ สามารถรองรับเที่ยวบินได้ 100 ล้านเที่ยวต่อปี รองรับได้ภายในระยะ 10 - 15 ปีข้างหน้า
ในปัจจุบันประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศในแง่ของการอำนวยความสะดวกด้านการจราจรอากาศยาน เพราะตั้งแต่จัดตั้งบวท.ในปี 2535 ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุอันตรายใดๆเกิดขึ้นต่ออากาศยานที่บินผ่านเข้ามาในน่านฟ้าของประเทศไทยเลย แสดงให้เห็นประสิทธิภาพของการอำนวยความสะดวกด้านการบินของประเทศไทย จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Global Air Traffic Floพ Management Conference ครั้งที่ 6 ที่จัดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ 28 ก.พ.- 2 มี.ค.54 นี้ ถือว่าเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย จะเกิดประโยชน์ในการพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางอากาศ และเป็นตัวกลางประสานความร่วมมือกับหน่วยงานการบินระหว่างประเทศ
@ Thairatonline 27FEB11