การบินไทยแถลงผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2562 กำไรสุทธิ 456 ล้าน
กลุ่มบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2562 มีกำไรสุทธิ 456 ล้านบาท มีรายได้รวมทั้งสิ้น 49,791 ล้านบาท ซึ่งรายได้รวมต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 6.9% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินที่เป็นรายได้หลัก การแข่งขันที่รุนแรง ประกอบกับมีปริมาณการขนส่งผู้โดยสารลดลง เนื่องจากปริมาณการผลิตลดลง ในขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 989 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.0% สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากบริษัทฯ มีการปรับลดประมาณการมูลค่าคงเหลือของเครื่องบินและเครื่องยนต์อะไหล่ ทำให้ค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้น ค่าเช่าเครื่องบิน และอะไหล่เพิ่มขึ้น
นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทยฯ เปิดเผยว่า ในปี 2562 บริษัทฯ ได้มุ่งเน้นการสร้างรายได้เสริมภายใต้โครงการ “มนตรา” ซึ่งเป็นโครงการฟื้นฟูการบินไทยแบบเร่งด่วน ตลอดจนกลยุทธ์การดำเนินงานอื่นๆ ซึ่งส่วนหนึ่งได้เริ่มดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ต้นปี โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือทำให้การบินไทยหลุดพ้นจากวงจรของกับดักปัญหา และสามารถมีผลประกอบการที่มั่นคงต่อไปในอนาคต โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ บูรณาการด้านบริหารจัดการการบินไทยและไทยสมายล์ การบริหารจัดการด้านการขายและการตลาด หารายได้เสริม และเพิ่มรายได้ในธุรกิจที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับการบิน เป็นต้น
ในไตรมาสนี้ บริษัทฯ มีจำนวนเครื่องบินที่ใช้ในการดำเนินงาน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562 จำนวน 103 ลำ ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 1 ลำ ในจำนวนนี้มีเครื่องบินที่ใช้บริการได้จริงเฉลี่ยในไตรมาส 1 ของปี 2562 จำนวน 90 ลำ ต่ำกว่าปีก่อนที่เฉลี่ย 94 ลำ ส่วนหนึ่งเกิดจากผลกระทบจากกรณีเครื่องยนต์โรลส์รอยซ์ Trent 1000 ต่อเนื่องจากปีก่อน และการจอดเครื่องบินเพื่อทำการซ่อมบำรุงตามตารางการซ่อมบำรุงปกติ แต่มีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน (Aircraft Utilization) เท่ากับ 12.5 ชั่วโมง สูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ที่เท่ากับ 11.9 ชั่วโมง มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 2.8% และมีปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ลดลง 3.2% มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 80.3% ต่ำกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 80.6% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 6.29 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน 0.6%
นอกจากนี้ จากเหตุการณ์สาธารณรัฐอิสลามปากีสถานประกาศปิดน่านฟ้าเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ทำให้การบินไทยต้องยกเลิกเที่ยวบินที่ทำการบินไปปากีสถานและเที่ยวบินเส้นทาง ไป-กลับ ยุโรปในช่วงเวลาดังกล่าว โดยได้ดำเนินการจัดเที่ยวบินพิเศษและเปลี่ยนขนาดเครื่องบินให้ใหญ่ขึ้นเพื่อทยอยนำผู้โดยสารที่ตกค้างไปยังจุดหมายปลายทาง โดยสามารถกลับมาบินได้ตามปกติในวันที่ 5 มีนาคม 2562 ยกเว้นเส้นทาง ไป-กลับ กรุงเทพฯ-ละฮอร์ และกรุงเทพฯ-อิสลามาบัด ซึ่งได้ประกาศยกเลิกเที่ยวบินดังกล่าวจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 เนื่องจากสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานได้ทำการเปิดน่านฟ้าเพียงบางส่วน และเป็นการเปิดน่านฟ้าแบบมีข้อจำกัดมากในเรื่องเส้นทางบินที่ทำการบินเข้าไปในแต่ละจุดบิน
ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในไตรมาส 1 ของปี 2562 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 49,791 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 3,675 ล้านบาท หรือ 6.9% สาเหตุสำคัญเนื่องจากทั้งรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง เป็นผลจากปริมาณการผลิตและการขนส่งลดลง ประกอบกับรายได้จากผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วยลดลงจากการแข่งขันที่รุนแรง และการแข็งค่าของเงินบาทต่อสกุลเงินรายได้หลัก ทำให้รายได้เมื่อคำนวณเป็นเงินบาทลดลง อย่างไรก็ดี รายได้จากการบริการอื่นๆ เพิ่มขึ้น 6.2% ส่วนไตรมาสนี้มีค่าใช้จ่ายรวม 50,619 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 989 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.0% โดยมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจากการเปลี่ยนประมาณการมูลค่าคงเหลือของเครื่องบินและเครื่องยนต์ ค่าเช่าเครื่องบินและอะไหล่เพิ่มจากการรับมอบเครื่องบินเช่าดำเนินงานในระหว่างปี 2561 จำนวน 3 ลำ และการเช่าเครื่องยนต์อะไหล่เพิ่มขึ้น เป็นต้น
บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจากการรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบิน จำนวน 213 ล้านบาท และกำไรจากการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนเงินลงทุนในบริษัท สายการบินนกแอร์จำกัด (มหาชน) จำนวน 273 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 1,366 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการตีมูลค่าทางบัญชี ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 456 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 2,281 ล้านบาท หรือคิดเป็น 83.3% โดยเป็นกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 445 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 0.20 บาท ลดลงจากปีก่อน 1.04 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็น 83.9%
ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมจำนวน 267,277 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2561 จำนวน 1,444 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.5% มีหนี้สินรวมเท่ากับ 243,700 ล้านบาท ลดลงจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 จำนวน 4,565 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.8% และส่วนของผู้ถือหุ้นมีจำนวน 23,577 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2561 จำนวน 3,121 ล้านบาท หรือคิดเป็น 15.3% สาเหตุหลักเกิดจากการปรับปรุงผลกระทบจากการนำมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 15 เรื่องรายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้ามาใช้ ทำให้กำไรสะสม ณ วันที่ 1 มกราคม 2562 เพิ่มขึ้น จำนวน 2,159 ล้านบาท ประกอบกับการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรในไตรมาสนี้