ไทย ไลอ้อน แอร์ ปรับแผนเปิดบิน 3 เส้นทางใหม่ญี่ปุ่น ฟุกุโอกะ นาโกย่า และโอซาก้า ด้วย 737MAX9
กรุงเทพฯ, 29 มกราคม 2562 - สายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ ประกาศเปิดเส้นทางบินจากกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) สู่เมืองฟุกุโอกะ, นาโกย่า และ โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งฟุกุโอกะจะเริ่มบินในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ นี้ นาโกย่าจะเริ่มบินในวันที่ 8 มีนาคม และ โอซาก้าจะเริ่มบินในวันที่ 28 มีนาคม นี้ นอกเหนือจากเส้นทางบินประเทศญี่ปุ่น นอกจากนั้นยังมีการขยายเส้นทางใหม่ไปยังเมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกาอีกด้วย เริ่มบิน 30 มกราคมนี้
นายอัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ กล่าวว่า สายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ พร้อมแล้วที่จะทำการเปิดเส้นทางบินปฐมฤกษ์ บินตรงจากกรุงเทพฯ ดอนเมือง สู่หัวเมืองหลักๆของประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นเมืองฟุกุโอกะ, นาโกย่า และ โอซาก้า ซึ่งถือเป็นเมืองยอดนิยมของคนไทยที่นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวกัน โดยใช้เวลาทำการบินประมาณ 6 ชั่วโมง ซึ่งประเทศญี่ปุ่นถือได้ว่าเป็นเมืองที่คนไทยให้ความนิยมไปท่องเที่ยวในทุกฤดูกาล โดยสายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ ให้บริการบินตรงสู่เมืองฟุกุโอกะ, นาโกย่า และ โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่นด้วยเครื่องบิน โบอิ้ง 737 แม็กซ์ 9 ซึ่งเป็นเครื่องบินทางเดินเดี่ยวพิสัยกลางรุ่นใหม่ในตระกูล 737 แม็กซ์ของโบอิ้ง จัดที่นั่งทั้งหมด 215 ที่นั่ง
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้สายการบินได้เคยประกาศว่าจะใช้เครื่องบินลำตัวกว้างอย่างรุ่นแอร์บัส เอ330 ให้บริการในเส้นทางการบินระยะกลางถึงไกล อย่างเช่น นาโกย่า และโอซาก้า โดยนางสาวนันทพร โกมลสิทธิ์เวช หัวหน้าฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ ให้เหตุผลว่าทางสายการบินมองว่าการใช้เครื่องบินทางเดินเดี่ยวที่มีความจุ 215 ที่นั่งอย่าง 737แม็กซ์9 นั้นจะทำให้สายการบินสามารถจัดจำหน่ายบัตรโดยสารเพื่อเติมความจุของเครื่องได้ง่ายและเหมาะสมกับตลาดมากขึ้น เมื่อเทียบกับแผนการในตอนแรกที่จะใช้ แอร์บัส เอ330-300 ที่มีความจุถึง 392 ที่นั่งมาให้บริการ ซึ่งจัดแบ่งเป็นชั้นประหยัดพิเศษ (Premium Economy) 18 ที่นั่ง ชั้นประหยัด 374 ที่นั่ง ทั้งนี้การเลื่อนเปิดให้บริการนาโกย่าจากเดิมกลางเดือนกุมภาพันธ์มาเป็นวันที่ 8 มีนาคม ก็เพื่อให้สายการบินนั้นมีระยะเวลาในการทำตลาดและในการจัดจำหน่ายบัตรโดยสารให้มีประสิทธิภาพได้มากขึ้น
นายอัศวินยังเปิดเผยว่าสำหรับการเริ่มเก็บค่าบริการสัมภาระที่จะฝากไปกับเครื่องสำหรับบัตรโดยสารที่ซื้อหลังวันที่ 15 มกราคม 2562 เป็นต้นมานั้น ก็เพื่อที่จะหารายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งสายการบินก็ต้องพยายามที่จะเพิ่มช่องทางต่าง ๆ ที่จะหารายได้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่จะทำกำไร ทั้งนี้อาจมีผลกระทบกับการตัดสินใจของผู้โดยสารอยู่บ้างแต่เชื่อว่าในที่สุดผู้โดยสารจะเข้าใจเพราะเป็นเรื่องปรกติของการทำธุรกิจเช่นเดียวกับสายการบินอื่น ๆ โดยการดำเนินการ 5 ปีที่ผ่านมานั้นก็ถือว่าเป็นช่วงเริ่มแรกที่บริษัทยังไม่ได้กำไร โดยคาดหวังว่าเมื่อบริษัทสามารถทำกำไรได้แล้วก็จะมีแผนในการนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่อไป โดยนายอัศวินได้กล่าวว่าปัจจุบันรายได้จากบริการเสริมพิเศษอย่างน้ำหนักกระเป๋าสัมภาระยังมีสัดส่วนที่น้อยคือแค่ประมาณร้อยละ 5 โดยนางสาวนันทพรได้กล่าวเสริมว่ารายได้รวมจากบริการเสริมพิเศษต่าง ๆ ทั้งหมดที่สายการบินให้บริการทั้งน้ำหนักกระเป๋า การเลือกที่นั่ง บริการอาหาร สินค้า ฯลฯ ยังอยู่ในระดับหลักหน่วยเมื่อเทียบร้อยละของรายได้ทั้งหมด ซึ่งตามหลักแล้วสายการบินต้นทุนต่ำควรมีรายได้จากบริการเสริมพิเศษต่าง ๆ ราวร้อยละ 20 ทั้งนี้การเริ่มใช้นโยบายเก็บค่าบริการสัมภาระของไทย ไลอ้อน แอร์นั้นมีความพิเศษคือผู้โดยสารมีทางเลือกที่จะซื้อเพิ่มในระดับเป็นหน่วยกิโลกรัมตั้งแต่ 1 กิโลกรัมแรก ซึ่งจะแตกต่างจากสายการบินอื่น ๆ ที่อาจจะต้องซื้อเหมาเป็นขั้น ๆ เช่น 15 20 25 30 กิโลกรัม ซึ่งผู้โดยสารสามารถเลือกน้ำหนักให้ตรงกับความต้องการของตนเองมากที่สุดและใช้เงินได้อย่างคุ้มค่าโดยไม่มีส่วนต่างของน้ำหนักที่ต้องซื้อเผื่อ
นอกเหนือจากเมืองฟุกุโอกะ, นาโกย่า และ โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น สายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ ยังได้เปิดทำการบินจากกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) สู่เมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ซึ่งจะเริ่มบินในวันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2562 โดยจะออกจากกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) เวลา 06:35 น. และถึงเมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา เวลาประมาณ 08:30 น.
สำหรับแผนการในปี 2562 นี้สายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ มีแผนจะรับเครื่องบินใหม่ จำนวน 3 ลำในช่วงครึ่งปีหลังเป็นเครื่องบินลำตัวกว้าง มีแผนการจะเพิ่มความถี่เส้นทางนาริตะที่เริ่มบินมาตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมาจาก 1 เที่ยวต่อวันเป็น 2 เที่ยวบินต่อวันคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในเดือนมิถุนายน นอกจากนั้นยังมีแผนการที่จะศึกษาการเปิดเส้นทางระยะไกลทั้งในเอเชียเหนืออย่างจีน เกาหลีใต้และญี่ปุ่นเพิ่มเติม รวมถึงเส้นทางข้ามทวีป
ปัจจุบันไทย ไลอ้อน แอร์ มีเครื่องบิน 34 ลำ เป็นแอร์บัส เอ330-300 จำนวน 3 ลำ โบอิ้ง 737 แม็กซ์ 9 จำนวน 3 ลำ โบอิ้ง737เน็กซ์เจนเนอเรชั่น (-800) 11 ลำ และโบอิ้ง737เน็กซ์เจนเนอเรชั่น (900ER) อีก 17 ลำ