ตอนที่ .... ได้ยินข่าวว่า น้องยิ้มจะย้ายบ้าน มาอยู่ชายคาเดียวกับ เจ๊น๊ก ณ ดอนเมือง
ผมก็อดใจหายไม่ได้นะ พี่สาวกับน้องสาว ลูกสาวป้าม่วง การบินไทย จะตีกันไหมเนี่ยะ ?
เพราะ ใครๆ ก็รู้ว่าพี่สาว นกแอร์ Nok Air วางตัวเป็น Premium Low-Cost ของดอนเมือง
เป็นสายการบินต้นทุนต่ำ ที่ให้บริการครบเครื่อง มากกว่าเจ้าอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำหนักกระเป๋า 15 กิโลกรัม (สมาชิกนกแฟนคลับได้ 20 กิโลกรัม)
บริการอื่นๆ เช่น Telephone Check-in หรือ Nok Call Home (บริการเช็คอินทางโทรศัพท์สำหรับสมาชิกนกแฟนคลับ) หรือเป็นเจ้าแรกที่ใช้บอร์ดดิ้งพาสโชว์บนสมาร์ทโฟน ถือขึ้นเครื่องได้เลย รวมไปถึง บริการของว่าง อานตี้แอนน์ กับน้ำดื่มกระปุก 100 ซีซี
ในขณะที่ น้องสาว ไทยสมายล์ Thai Smile รอยยิ้มคู่ฟ้า เป็นลูกสาวคนเล็กสุดรักสุดหวงของคุณป้าม่วง การบินไทย
ใช้โค๊ด TG (THA) ของการบินไทย มานานหลายเดือน (แต่ก่อนจะประกาศเป็น Thai Airways Smile)
จนเพิ่งจะได้แยกเป็น บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ส จำกัด หรือ Thai Smile Airways พร้อมกับโค๊ดของตัวเองคือ WE (THD)
แต่ก็ยังใช้ Facility ของคุณแม่ (ป้าม่วง การบินไทย) เกือบจะเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นช่องทางการจำหน่าย ผ่านทุกช่องของการบินไทย (แค่มีเว็บของตัวเอง http://www.thaismileair.com ซึ่งก็ใช้ platform เดียวกับแม่) ใช้ Call Center เดียวกันกับแม่คือ 02-3561111 ที่ทึ่งคือ หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียน ก็ใช้อีเมล์ของแม่ customer@thaiairways.com ซะงั้น !!
อันนี้ไม่รวมถึงเคาน์เตอร์เช็คอิน พนักงานภาคพื้น อุปกรณ์ลานจอด ฯลฯ ก็ใช้ของแม่หมดเลย
มีอย่างเดียว ที่น้องยิ้มมีก็คือ บุคลากรบนเครื่องบิน เป็น Outsource ไม่ใช่พนักงานของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
ใช้เครื่องบินแอร์บัส A320 ซึ่งจัดตารางบินใช้งานเครื่องบินได้คุ้มค่าขึ้น Ground Time สั้นลง
แอร์โฮสเตส สดใสวัยกระเตาะ (พูดง่ายๆ คือ ผมขึ้นเครื่องมา มีแต่ Leader หรือ หัวหน้าลูกเรือ หรือ Purser ที่แก่กว่าผม นอกนั้นเด็กกว่าผมหมด)
ซึ่งน้องยิ้มเค้าวางตัวเป็น Light Premium และเดิมทีเหมือนจะวางตัวเองเป็น Regional Wings ของ การบินไทย
(นั่นหมายถึง วางตัวเท่ากับ Silk Air ของ Singapore Airlines หรือ Dragon Air ของ Cathay Pacific ซึ่งให้บริการเที่ยวบินระดับภูมิภาคแบบจัดเต็มไม่แพ้ตัวแม่ ดังนั้น ถ้าวางตัวเองเป็น Regional Airlines คู่แข่งของน้องยิ้ม จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก World's Best Regional Airlines ประจำปี 2014 คือ บางกอกแอร์เวย์ส Bangkok Airways นั่นเอง !!)
ส่วนตัวผมเคยมีโอกาสได้ขึ้นเครื่องน้องยิ้มครั้งหนึ่ง ในเส้นทางปฐมฤกษ์ สุวรรณภูมิ-มัณฑะเลย์-สุวรรณภูมิ (ครั้งนั้น TG Social Media เป็นคนเชิญ)
ผมก็รู้สึกได้ว่า การวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ ของสายการบินนี้ค่อนข้างจะแปลกอยู่ คือจะกึ่งๆ กลางๆ ไม่ใช่ Full Service ซะทีเดียวแต่ชั้นก็ไม่ใช่โลว์คอสต์นะ !! แม้ว่า ตอนเปิดตัวครั้งแรกกลางปี 2555 เปิดฉากด้วยการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มตามคอนเซปต์สายการบินโลว์คอสต์
ต่อมา เหมือนจะคิดได้ ก็เลยตัดบริการขายออกไป เป็นการให้บริการของว่าง (หรือ อาหารร้อนสำหรับเที่ยวบินระยะไกลเกิน 4 ชั่วโมง) และเครื่องดื่ม ที่สามารถขอได้ เต็มที่ พูดง่ายๆ คือ การบริการของน้องยิ้มในเที่ยวบินภายในประเทศ ก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าคุณแม่ (ป้าการบินไทย) ที่เสิร์ฟ snack box กล่องเดียวพร้อมกับ เครื่องดื่ม เหมือนกันเด๊ะ
คือ ถ้าบริการบนเครื่อง ต่างกับคุณแม่ก็แค่ ....
1. ขนาดของเครื่องบิน ใช้เครื่องขนาดเล็กลง (ไม่นับป้าโบอิ้ง 737-400 นะ) ฝูงเดียวกันทั้ง Fleet แอร์บัส A320-200 ขนาด 162-174 ที่นั่ง
ซึ่งสิ่งที่ขาดหายไปสำหรับเครื่องน้องยิ้ม ก็คือ "หมอน" (น้องยิ้มมีหมอนให้เฉพาะชั้น Smile Plus) กับ "ผ้าห่ม" (on request -- ขอลูกเรือได้ครับ) และระบบความบันเทิง ซึ่งเครื่องรุ่นใหญ่ก็มีจอส่วนตัวกันหมด แต่น้องยิ้มมีจอรวมเหนือศีรษะให้ชมภาพยนตร์ขำขัน ระหว่างการเดินทางได้
2. อายุของลูกเรือ ลูกเรือน้องยิ้มเรียกว่าน้องได้เต็มปากเต็มคำ (มากกว่า 80% อายุน้อยกว่าผมแน่นอน)
ในขณะที่ถ้าขึ้นคุณป้าการบินไทย ผมสามารถยกมือไหว้ลูกเรือได้อย่างสนิทใจ (มากกว่า 80% อายุมากกว่าผมแน่นอน)
ซึ่ง ถามว่า ความต่างมีไหม สำหรับ ลูกเรือรุ่นใหญ่ ส่วนตัวผมมองว่าบริการได้มืออาชีพและอบอุ่นกว่า (ประสบการณ์สูงกว่า) แต่ถ้าต้องการแนวสดใส ดูแล้วเพลิดเพลินเจริญหูเจริญตา เด็กสาวเอ๊าะๆ รุ่นๆ อายุเลข 2 เป็นส่วนใหญ่ ก็ต้องน้องยิ้มหล่ะครับ 