สวัสดีครับ
หลังจากเครื่องบินแอร์บัส เอ300-600 ลำแรกเข้าประจำการในฝูงบินการบินไทยในปี พ.ศ. 2528 จนกระทั่งมีการทยอยรับมอบมาเรื่อย ๆ จนการบินไทยมี เอ300-600 ทั้งสิ้น 21 ลำ(ลำสุดท้ายเข้าประจำการปี พ.ศ. 2541) ในหลากหลายเวอร์ชัน และนำมาใช้เป็นม้างานของการบินไทย ทำการบินในเส้นทางหลักๆ ของการบินไทยมาแล้วหลากหลายเส้นทาง(ไม่ใช่แค่เพียงในภูมิภาคใกล้ๆ อย่างในปัจจุบัน แต่ในอดีต AB6 เหล่านี้บินไปถึง ตะวันออกกลาง เอเชียเหนือ หรือในภารกิจพิเศษก็เคยไปไกลกว่านั้นมาแล้ว)
ตลอดระยะเวลา 29 ปีที่ผ่านมา เอ300-600 มีความสำคัญกับพนักงานหลายสาขาไม่ว่าจะเป็นนักบิน ลูกเรือ ช่าง ฝ่ายครัวการบิน ฯลฯ ถือว่าเครื่องบินรุ่นนี้เป็นเครื่องครู เพราะว่าทุกคนที่เข้ามาทำงานในสาขาอาชีพต้องผ่านเครื่องบินรุ่นนี้ในการฝึกฝนปฏิบัติงานให้เชี่ยวชาญก่อนจะเลือนปรับไปทำงานกับเครื่องบินรุ่นอื่นๆ ต่อไป เครื่องบินรุ่นนี้จึงเป็นที่รักและเคารพของบรรดาพนักงานการบินไทยอย่างยิ่ง และไม่เพียงแต่พนักงานกับตัวผู้โดยสารเองก็มีความผูกพันกับ AB6 เป็นอย่างมากเพราะเรียกได้ว่า เครื่องบินรุ่นนี้ได้ให้บริการมาอย่างยาวนาน บินในเส้นทางที่หลากหลายมากทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เด็กๆ หลายคนได้ขึ้นเครื่องบินการบินไทยครั้งแรกก็ด้วย AB6 จึงถือได้ว่า แอร์บัส เอ300-600 เป็นตำนานแห่งฟากฟ้า หรือ Legend of The Sky ของการบินไทย
ด้วยกาลเวลาที่ผ่านไป ด้วยเครื่องบินรุ่นใหม่ๆ ที่มีเทคโนโลยีทันสมัย มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน มีการอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารได้ดีกว่าเข้ามาสู่ตลาดเรื่อยๆ ก็ถึงเวลาที่เครื่องบินรุ่นนี้ต้องปลดประจำการ โดยการบินไทยได้ทยอยปลดประจำการแอร์บัส เอ300-600 ลำแรกในปี พ.ศ. 2550 และลดขนาดฝูงบินรุ่นนี้ลงเรื่อยๆ จนเหลือเพียงแค่ 5 ลำในปี พ.ศ. 2557 และในที่สุด 31 กรกฎาคม 2557 ก็เป็นวันสุดท้ายที่ แอร์บัส เอ300-600 หรือ AB6 ที่ทุกคนคุ้นเคยกันมานานจะให้บริการผู้โดยสารในนามสายการบินไทยเป็นเที่ยวบินสุดท้าย
รีวิวนี้เลยขอพาทุกท่านเดินทางไปเก็บประวัติศาสตร์และภาพความทรงจำครั้งสุดท้าย ของตำนานแห่งฟากฟ้า แอร์บัส เอ300-600 ของการบินไทย ทั้งในชั้นธุรกิจและชั้นประหยัดในเที่ยวบินของวันสุดท้ายที่เครื่องบินรุ่นนี้ให้บริการ คือวันที่ 30-31 กรกฎาคมที่ผ่านมา
โดยเราจะเดินทางไปขอนแก่น ด้วย TG44 วันที่ 30 ก.ค. และกลับด้วย TG45 วันที่ 31 ก.ค. ซึ่งเป็นเที่ยวบินสุดท้ายที่ทำการบินด้วย เอ300-600 นั่นเอง