กางโรดแมปขนส่งทางอากาศ ชงคสช.ไฟเขียวแผนลงทุนไม่ต่ำกว่า 3.58 แสนล้านบาท บินไทย เร่งทบทวนแผนซื้อฝูงบินอีก 38 ลำ วงเงิน 2.4 แสนล้านบาท โดยยังเดินหน้าแต่ชะลอรับมอบให้สอดรับกับฐานะการเงินบริษัท ส่วนทอท.พร้อมทุ่ม 1.1 แสนล้าน ขยายสนามบินสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง และผุดแอร์พอร์ตซิตี
ด้านบวท.เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเดินอากาศรองรับไฟลต์เพิ่ม 1.1 ล้านเที่ยวบินต่อปี ขณะที่บพ.ปัดฝุ่นขอมติเปิด 28 สนามบินภูมิภาคให้เอกชนบริหาร
จากการสำรวจของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่าแผนแม่บทการลงทุนของหน่วยงานต่างๆในสาขาการขนส่งทางอากาศ ในสังกัดของกระทรวงคมนาคม ที่มีการเสนอกรอบและแผนการลงทุนต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคสช.ให้พิจารณา รวมเป็นวงเงินไม่ต่ำกว่า 3.58 แสนล้านบาท โดยแยกเป็นแผนการลงทุนในการจัดซื้อฝูงบินของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)อีก 38 ลำ วงเงิน 2.4 แสนล้านบาท ที่ในขณะนี้ทางฝ่ายบริหารและบอร์ดอยู่ระหว่างการทบทวนรายละเอียดของโครงการ รองลงมาเป็นการลงทุนของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือทอท. ไม่ต่ำกว่า 1.1 แสนล้านบาท การลงทุนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานระบบการเดินอากาศของบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทยฯ หรือบวท.วงเงินกว่า 5 พันล้านบาท เป็นต้น ส่วนใหญ่จะเป็นใช้เงินลงทุนของแต่ละหน่วยงานเองควบคู่ไปกับการกู้จากสถาบันการเงินมาดำเนินการ
++ บินไทยรีไวส์แผนจัดหาฝูงบิน
ต่อเรื่องนี้นายโชคชัย ปัญญายงค์ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่าในขณะนี้การบินไทยอยู่ระหว่างการเวิร์กช็อปยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจและแผนฟื้นฟูของบริษัท ซึ่งในส่วนของแผนการลงทุนหลัก ๆ จะเป็นโครงการจัดหาเครื่องบินระยะที่ 2 ที่ยังดำเนินการค้างอยู่ เพราะก่อนหน้านี้มติคณะรัฐมนตรี สมัยอดีตนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ(วันที่ 20 เม.ย.54)ได้มีมติเห็นชอบโครงการจัดซื้อฝูงบินระยะยาว(ปี2555-2565) ของการบินไทยจำนวน 75 ลำแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการจัดหาเครื่องบินระยะที่ 1 ไปแล้ว จำนวน 37 ลำ ยังเหลือการจัดซื้อในส่วนที่เหลืออีก 38 ลำ ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนทบทวนศึกษารายละเอียดของโครงการ เพื่อสรุปยุทธศาสตร์ของบริษัทฯนำเสนอรายละเอียดให้คสช.พิจารณาต่อไป
สำหรับมติครม.ในส่วนของโครงการจัดหาเครื่องบินระยะที่ 2 ปี 2561-2565 จำนวน 38 ลำ แบ่งเป็นการจัดหาเครื่องบินแบบ Firm Order จำนวน 21 ลำ วงเงินลงทุน 1.25 แสนล้านบาท และการจัดหาแบบ Option Order จำนวน 17 ลำ วงเงินลงทุน 1.03 แสนล้านบาท พร้อมทั้งเครื่องยนต์สำรอง วงเงินลงทุน 1.19 หมื่นล้านบาท รวมวงเงินลงทุน 2.41 แสนล้านบาท แต่ที่ผ่านมาการบินไทยยังประสบปัญหาการขาดทุน ทำให้จำเป็นต้องมีการทบทวนศึกษาแผนการจัดซื้อเครื่องบินในล็อตที่2 นี้ใหม่ โดยมีข้อสรุปว่าแผนการจัดซื้อเครื่องบินก็ยังต้องดำเนินการอยู่ แต่จำเป็นต้องชะลอการรับมอบออกไป โดยยืดระยะเวลาการรับมอบออกไปนานขึ้นกว่าแผนเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับฐานะการเงินของบริษัท
++ขยายสนามบินถึงปี64
ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. เผยว่า ทอท.ได้เสนอโรดแมประยะยาวในการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินหลักของประเทศไทย ให้คสช.พิจารณาแล้ว โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นโครงการลงทุนในปีงบประมาณ 2558 ซึ่งเป็นการลงทุนต่อเนื่อง อาทิ การขยายสนามบินสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ขยายการรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 60 ล้านคน ที่จะแล้วเสร็จในปี 2560 วงเงิน 6.2 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายอาคารผู้โดยสารทิศตะวันออก 6 หมื่นตร.ม. การสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 เป็นต้น การขยายสนามบินดอนเมืองเฟส 2 รองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 30 ล้านคน วงเงิน 3 พันล้านบาท ที่อยู่ระหว่างการซ่อมแซมอาคารผู้โดยสาร(อาคาร 2) การขยายสนามบินภูเก็ต วงเงิน 5.1 พันล้านบาท เพื่อขยายหลุมจอดอากาศยานเป็น 21 หลุมจอด การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ
ส่วนที่ 2 เป็นโครงการลงทุนระยะยาวตามยุทธศาสตร์ของบริษัท ได้แก่ การขยายสนามบินดอนเมืองเฟส 3 ลงทุน 7 พันล้านบาท ที่จะเป็นการซ่อมแซมอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ อาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 6 ขยายการรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 40 ล้านคนในปี2558 และลงทุนขยายรันเวย์อีก 1.5 พันล้านบาท รองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 60 ล้านคนต่อปีในปี 2560 ดังนั้นในปี 2560 เมื่อรวมกับสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 120 ล้านคนต่อปี
นอกจากนี้ยังมีแผนปรับปรุงอาคารผู้โดยสารสนามบินภูเก็ต รองรับผู้โดยสารเป็น 18 ล้านคนต่อปี วงเงิน 3.7พันล้านบาท เริ่มดำเนินการปี 2558-2562 แผนขยายขีดความสามารถสนามบินเชียงใหม่ เชียงราย หาดใหญ่ ที่เริ่มดำเนินการปี 2561 ส่วนแผนการสร้างรันเวย์ที่ 3 ของสนามบินสุวรรณภูมิ วงเงิน 1.54 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการได้ในปี 2560- 2564
รวมไปถึงแผนการผลักดันแอร์พอร์ต ซิตีเพื่อสร้างรายได้Non-Aero ซึ่งทอท.มีพื้นที่ว่างเปล่ากว่า 3.1พันไร่ ที่สามารถนำมาพัฒนาได้ ซึ่งแนวทางการลงทุนจะมีทั้งส่วนที่ทอท.อาจจะลงทุนเองวงเงิน 1.85 หมื่นล้านบาท อาทิ การพัฒนาคลังสินค้า 2 และ 3 สนามบินดอนเมืองเป็นคอมมิวนิตี มอลล์,คอมเพล็กซ์ การสร้างศูนย์จอดเครื่องบิน(ไพเวต เจ็ต)ที่สนามบินภูเก็ต ส่วนการพัฒนาแอร์พอร์ต ซิตี ที่สนามบินดอนเมือง ก็คงเป็นโครงการที่เปิดให้ผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาลงทุน
"โครงการเหล่านี้เป็นโรดแมปที่มีการเสนอไปยังคสช. ในแต่ละขั้นตอนของการดำเนินการ โดยเฉพาะแผนการลงทุนต่าง ๆ อาทิ การเปิดประมูลคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างในโครงการต่างๆของสุวรรณภูมิเฟส 2 คาดว่าจะเริ่มกระบวนการได้หลังมีการแต่งตั้งบอร์ดทอท.ชุดใหม่แทนกรรมการทั้ง 4 คนที่ลาออกไปก่อนหน้านี้" แหล่งข่าวกล่าว
++บวท.ขยายรับ 1 ล้านไฟลต์ต่อปี
ด้านนางสาริณี แสงประสิทธิ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.)กล่าวว่า บวท.ได้วางโรดแมปของการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการเดินอากาศ มูลค่า 4 พันล้านบาท ที่เป็นโครงการลงทุนต่อเนื่อง คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี2559-2560 รวมถึงการทบทวนแผนการลงทุนปีงบประมาณ2558 วงเงิน 2 พันล้านบาท อาทิ การจัดหาและติดตั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการการเดินอากาศในสนามบินภูมิภาค ซึ่งถึงตอนนั้นประเทศไทยจะรองรับปริมาณเที่ยวบินได้มากกว่า 1 ล้านเที่ยวบินต่อปี และน่าจะรองรับการเติบโตได้ถึง 12 ปี
ขณะที่แหล่งข่าวจากบวท.กล่าวว่า แผนการเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาระบบการเดินอากาศให้ทันสมัยและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในช่วงปี 2558-2561 บวท.เตรียมจัดหาแหล่งเงินกู้กว่า 5.3 พันล้านบาทเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินการ เช่น การจัดตั้งศูนย์บริหารจราจรทางอากาศ การปรับปรุงระบบควบคุมจราจรทางอากาศสนามบินสุวรรณภูมิ โครงการพัฒนาระบบติดตามอากาศยานภายในประเทศเพิ่มเติม 5 แห่ง ได้แก่ สนามบินพิษณุโลก เชียงราย อุดรธานี ร้อยเอ็ด ชุมพร เป็นต้น
++ชงเอกชนบริหาร 28 สนามบิน
นายวรเดช หาญประเสริฐ อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) เผยว่า ขณะนี้ บพ. เตรียมนำข้อสรุปการศึกษา 28 สนามบินยื่นเสนอต่อคสช. เพื่อดำเนินการเปิดประมูลโครงการในปี 2558 ให้เอกชนที่สนใจเข้ามาบริหาร ซึ่งเบื้องต้นมี บริษัท ท่าอากาศยานไทยฯ หรือ (ทอท.) ,บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด หรือบางกอกแอร์เวย์สและบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)สนใจที่จะเข้ามาดำเนินการ โดยส่วนใหญ่สนใจเฉพาะสนามบินที่ทำกำไร และมีผู้โดยสารเกิน 1 ล้านคนต่อปี เช่น กระบี่ สุราษฎร์ธานี อุบลราชธานี อุดรธานี และขอนแก่น
นอกจากนี้ บพ. จะนำสนามบินที่มีศักยภาพด้านโลจิสติกส์ อาทิ นครราชสีมา เพชรบูรณ์ หัวหิน และชุมพร เปิดประมูลพัฒนาขึ้นเป็นสนามบินเพื่อการขนส่งเชื่อมต่อในพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งยังสามารถพัฒนาศักยภาพดังกล่าว เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางขนส่งสินค้าเชื่อมต่ออาเซียนในอนาคต ปัจจุบันขั้นตอนการศึกษาอยู่ระหว่างการหารือเรื่องเงื่อนไข ในการเข้ามาบริหารของภาคเอกชน
สอดคล้องกับ นายเสรี จิตต์โสภา รองอธิบดีฝ่ายท่าอากาศยาน กรมการบินพลเรือน(บพ.) ที่กล่าวว่า ขณะนี้ บริษัทที่ปรึกษาอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลในการพัฒนาสนามบินทั้ง 28 แห่ง คาดจะได้ข้อสรุปในการดำเนินการภายในเดือน สิงหาคม-กันยายนนี้ ซึ่งได้จัดกลุ่มในการประเมินรูปแบบการบริหารจัดการที่ชัดเจนขึ้นจากการสำรวจและประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ละพื้นที่ อาทิ หอการค้าจังหวัด และการบินที่บินประจำในเส้นทางแต่ละจังหวัดนอกจากนี้ ในปี 2558 บพ. จะของบประมาณปรับปรุงสนามบินต่างๆ กว่า 2 พันล้านบาท โดยแบ่งเป็นสนามบินกระบี่ 450 ล้านบาท สนามบินเบตง จังหวัดยะลา 1.8พันล้านบาท เพื่อปรับพื้นที่สร้างอาคารผู้โดยสารและรันเวย์ สนามบินตรัง 240ล้านบาท เพื่อขยายรันเวย์ ปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร และลานจอด
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,957 วันที่ 15 - 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557
http://thanonline.co...17#.U6MuhvmSz74
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อยากเห็นบทสรุปเร็วๆว่าสุดท้ายแล้วจะสั่งเครื่องรุ่นไหนเข้ามาบ้างในบรรดา 38 ลำที่จะเข้ามาในอนาคต
โดยส่วนตัวอยากเห็น B777-8X หรือ B777-9X เอาไว้มาแทน B747-400 ที่คงต้องอำลาฝูงบินไปในไม่ช้า