พระบรมธาตุไชยา ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระบรมธาตุ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นโบราณสถานศรีวิชัย ทำเป็นรูปทรงมณฑป เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป มีมุขยื่นออกมาทั้งสี่ทิศ ตอนหลังคาทำยอดเป็นพระสถูปมีเจดีย์เล็ก ๆ ทรงกลม ประดับรายรอบสถูปนี้ขึ้นไปเป็นขั้น ๆ พระบรมธาตุไชยา ได้รับการบูรณะตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ในรัชกาลปัจจุบัน (พ.ศ. 2521 - 2523) โดยกรมศิลปากรจนเสร็จสมบูรณ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินมาทำพิธียกฉัตร เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2525
พระบรมธาตุไชยา เป็นพุทธเจดีย์สมัยศรีวิชัยสร้างตามลัทธิมหายานประมาณ พ.ศ. 1300 ในสมัยที่อาณาจักรศรีวิชัยกำลังรุ่งเรื่องและได้แพร่อำนาจปกคลุมตลอดแหลมมาลายูจนถึงเมืองไชยาตั้งอยู่ระหว่างระอุโบสถกับพระวิหารหลวงในบริเวณปิ่นกลางล้อมรอบด้วยพระระเบียงคดทั้ง 4 ด้าน ฐานพระบรมธาตุขุดเป็นสระกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร ลึกประมาณ 60 – 70 เซนติเมตร จนเห็นฐานเดิมก่อสร้างด้วยอิฐโบกปูน ซึ่งก่อนหน้าที่จะบูรณะในสมัยพระชยาภิวัฒน์ ฐานพระบรมธาตุฝังจมอยู่ ต่ำกว่าระดับพื้นดิน ปัจจุบันมีน้ำขังอยู่รอบฐานตลอดปี บางปีในหน้าแล้งรอบๆฐานพระบรมธาตุจะแห้งและมีตาน้ำผุดขึ้นมา จนชาวบ้านพากันแตกตื่นและถือว่าเป็นน้ำทิพย์ที่ศักดิ์สิทธิ์สามารถแก้โรคภัยต่างๆได้ ต่อมาทางวัดได้ใช้ปูนซีเมนต์ปิดตาน้ำนั้นเสีย
การบูรณะปฏิสังขรณ์
พระบรมธาตุไชยาได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัยใดบ้างไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด ตามทางสันนิษฐานแสดงว่าพระบรมธาตุไชยาได้รับการตกแต่งเพิ่มเติมทรับซ้อนกันหลายครั้งในพุทธศตวรรษที่ 18 คงจะมีการบูรณะปฏิสังขรณ์เจดีย์พระบรมธาตุไชยาและได้เปลี่ยนเจดีย์ทิศหรือยอดเจดีย์บริวารเป็นหินทรายสีแดงโดยทำเป็นหน้าเทวดาจตุรพักตร์ซึ่งเข้าใจว่าเป็นพระโพธิสัตว์อวโรกิเตศวร
อาณาจักรศรีวิชัย ตั้งอยู่ในเกาะสุมาตรา ทางทิศตะวันตกของเมืองปาเล็มบัง ขณะนั้น อาณาจักรศรีวิชัย เป็นอาณาจักรที่มีอานุภาพมาก ระหว่าง พ.ศ. 1300 - 1800 สามารถแผ่อาณาเขต ไปจนถึงเกาะชวา และแผ่มาในแหลมมลายูถึงเมืองนครศรีธรรมราช สมัยนั้นเรียกว่า "ตามพรลิงค์" และไชยานั้นเรียกว่า "ครหิ" เป็นเหตุให้ศิลปะแบบศรีวิชัย แพร่หลายเข้ามาประเทศไทยทางใต้ และคงจะแพร่หลายขึ้นยังกรุงสุโขทัย เมื่อครั้งกรุงสุโขทัยติดต่อกับเมืองนครศรีธรรมราช ในรัชกาลพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ หรือพ่อขุนรามคำแหงมหาราช