วิหารทรงปราสาท บริเวณหน้าบันเป็นปูนปั้นประดับกระจกที่งดงาม ภายในผนังวิหารมีลายรดน้ำสีทองเป็นเรื่องพระพุทธประวัติ ท้ายวิหารมีซุ้มประตูโขงติดกับฐานชุกชี สร้างเป็นซุ้มโค้งสองชั้น ชั้นล่างรูปร่างคล้ายกระบังยอดแหลม ใช้ฝาชามเบญจรงค์มาตกแต่งเป็นดอกไม้ ปลายซุ้มเป็นรูปหงส์ยืนหันหน้าเข้าหากรอบซุ้ม ซุ้มโค้งชั้นบนทำเป็นรูปลำตัวมกรสองตัวยกหางขึ้นเกี่ยวกระหวัด มีลายปูนปั้นเป็นกลีบดอกไม้และรูปสัตว์หลายชนิด องค์ปราสาทหลังวิหารมีลักษณะคล้ายกับเจดีย ์เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน
วิหารทรงปราสาท ให้ความสำคัญแก่ที่ประดิษฐานพระประธาน สร้างเป็นมณฑปปราสาทไว้ทางด้านหลังของตัววิหาร เช่น วิหารวัดปราสาท นครเชียงใหม่ วิหารล้านนานั้นส่วนใหญ่จะมีโครงสร้างแบบที่เรียกว่า “ม้าต่างไหม”
ซึ่งนำชื่อมาจากลักษณะการบรรทุกผ้าไหมบนหลังม้าไปขาย ของพ่อค้ามาต่าง (ต่าง แปลว่า บรรทุก) ในล้านนา
โดยมีการลดหลั่นของหลังคาจากห้องประธานลงมาทางด้านหน้าและด้านหลัง เป็นชั้นเชิงที่สวยงาม บางทีจึงเรียกว่า วิหารซด ส่วนใหญ่มักมุงหลังคาด้วยดินขอ(กระเบื้องดินเผา) หรือแป้นเกล็ด (แผ่นไม้)